มาจดบันทึกแบบบูโจกันเถอะ The Bullet Journal Method (เวอร์ชั่นมีภาพประกอบ) ตอนที่ 1

Peesamac
3 min readMay 19, 2020

--

ซีรีย์ นักแปลงร่างความรู้ บทความแรกนี้ ผมจะเริ่ม Blog ให้ดูมีความเป็นระบบระเบียบซะหน่อย ด้วยการนำหนังสือเริ่มนึงที่รอคอยมานาน มาแปลงร่างมัน ให้กลายเป็นความรู้อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย เล่มนั้นก็คือออออออ “​The Bullet Journal Method: วิถีบันทึกแบบบูโจ

(มีเวอร์ชั่น Podcast ท้ายบทความ)

เป้าหมายของ Blog นี้คือ ทุกคนที่อ่านเสร็จ ต้องสามารถไป Set ระบบบูโจของตัวเองได้ เพื่อให้ชีวิตของทุกคนมีระบบชีวิตที่ดีมากขึ้นไปพร้อมๆ กับผม (เพราะกำลังเริ่มทำอยู่เหมือนกัน) ผมจะขอสรุปในแบบของตัวเอง บางรายละเอียดเกิดขึ้นจากการลองไปใช้จริง แล้วดังนั้นขอแบ่งหมวดการเขียนหลักๆ ออกเป็น ดังนี้

  1. What : อะไรคือ Bullet Journal
  2. Who : BUJO เหมาะกับใคร ใครควรจะอ่านวิธีการนี้
  3. Why : แล้วทำไมเราต้องรู้วิธีนี้
  4. How : แล้วถ้าอยากจะเซทระบบนี้ขึ้นมาเลย จะต้องทำอย่างไรบ้าง

โอเค ไปเริ่มที่เรื่องราวของ Bullet Journal กันก่อนเลย

WHAT : ประวัติย่นย่อตามหนังสือ

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้และคิดค้นวิธีการจดโน้ตแบบนี้มีชื่อว่า Ryder Carroll เขาเล่าว่าตอนเด็กเขาเป็นโรคสมาธิสั้น ทำให้โฟกัสและมีสมาธิกับสิ่งที่ต้องทำยากมากจนกระทบกับชีวิตประจำวัน เขาสังเกตว่าเพื่อนที่ประสบความสำเร็จของเขาหลายคนมีสมุดประจำตัวหนึ่งเล่มไว้จัดระเบียบชีวิต เขาเลยพยายามพัฒนาจนมันกลายมาเป็นวิธีการจัดระเบียบความคิดของเขาเช่นกัน จนมันทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตปกติได้ และทำงานรอบตัวได้ดีขึ้น เมื่อถึงโอกาสที่ต้องแบ่งปันให้เพื่อนในออฟฟิตฟัง เขาเลยลองเล่าวิธีการที่คิดนี้ให้เพื่อนไปใช้ เพื่อนเลยถามว่า “โลกต้องรู้เรื่องนี้”​ หลังจากนั้นมา เรื่องนี้ก็กลายมาเป็นวิธีจดโน้ตอันฮ็อตฮิตอีกวิธีนึงของโลก

WHO : ใครควรจะใช้วิธีการนี้

1. คนที่พยายามซื้อสมุดโน้ตเล่มสวยๆ แพงๆ มาตั้งใจจดทุกอย่างในชีวิตให้เป็นระบบ แต่กลับล้มเหลวทุกที ไม่น่าก็ซื้อเล่มใหม่อีก แล้วก็วนเป็นลูปเดิมๆ (ผมเนี่ยแหละหนึ่งในนั้น)
2. คนที่พยายามจะเข้าใจชีวิตตัวเอง ลองจดไดอารี เขียน Reflection ทุกวันแล้ว สักพักก็หมดแรง เพราะมันต้องตั้งใจมากเกินไป (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น)
3. คนที่รู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตฉัน ถูกพลังเหนือธรรมชาติจากโลกดิจิตอลทำให้เราหมดพลังและหมดแรง (ยกมือสุดตัวเลย)
4. คนที่อยากจะ Productive อยากจะมี System ในแบบของตัวเอง ทั้งเป็นระบบและยืดหยุ่นตามสถานการณ์โดยไม่เครียด แต่ยังไม่มีแนวทางชัดเจนว่าจะเริ่มอย่างไรดี

WHY : ทำไมต้องวิธีนี้

ผมเป็นหนึ่งคนที่สนใจการนำกระบวนการคิด เทคนิคต่างๆ ของ Productivity มาลองใช้ตั้งหลายปีมาแล้ว แรงกระตุ้นเบื้องต้นก็มาจากสถานการณ์การทำงานที่วุ่นวาย เรื่องส่วนตัวก็ปนกันมั่วไปหมด ตอนนั้นหนังสือเล่มดังจากต่างประเทศถูกแปลไทยพอดี ไม่พลาดที่ผมจะลองซื้อและหยิบมาใช้กัน หนังสือเล่มนั้นคือ Getting things done (GTD) ของ David Allen นอกจากนั้นยังมีพยายามเอาตัวไปเข้าร่วมเวิร์คช็อปของทาง GTD Thailand มาถึงสองครั้ง สองครั้งนั้นทำให้ผมได้กระบวนการคิดแบบใหม่ ในการจัดการชีวิตให้มีระบบมากขึ้น โดยการสร้างระบบ (system) ในแบบของตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็ทำให้ความวุ่นวายในจิตใจ งานที่ต้องทำทุกวินาทีมันผ่อนคลายมากขึ้นได้เป็นอย่างมาก เดี๋ยวต้องเอา GTD ที่เคยทำมามาลองสรุปให้ทุกคนฟังกันทีหลัง แต่สิ่งที่มันค้างคาใจของผมใน GTD ที่มีมาตลอดก็คือ ระบบที่เราสร้างมาดีนั้น เก็บครบทุกมุม ตั้งแต่งานระหว่างวัน เป้าหมายขององค์กร เป้าหมายของชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไปมันคือ “ความทรงจำ​” ไข่ทองคำล้ำค่าที่ซ่อนไว้ด้วยการเรียนรู้ บทเรียน ประสบการณ์ของเรามันไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในนั้น Task ที่ถูกเช็คออกจาก To-do lists ของผมทำให้รู้สึกว่าชีวิตเดินไปข้างหน้า แต่ผมก็สังเกตว่าสมองผมก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะ Reflect ความทรงจำที่เกิดขึ้นในชีวิต งานที่ผ่านมาได้ทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ ความน่าสนใจของระบบบูโจนี้ก็คือ การร่วมร่างของ

“ระบบจัดการงานต่างๆ ในชีวิต” + “ระบบจัดการความทรงจำ” + “ระบบจัดการสมุดโน้ต”

ซึ่งส่วนตัวผมก็คิดว่ามัน Make Sense เอามากๆ เพราะระหว่างทำงานชิ้นหนึ่ง เราอาจจะแตก Task หรือสิ่งที่ต้องทำออกมาได้ 10 อย่าง ซึ่งต้องเสร็จภายใน 10 วัน ระหว่างนั้นเราอาจจะค้นพบว่า งานบางอย่างเราถนัดมากขึ้น บางอย่างน่าสนใจจนเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ หรือบางความทรงจำของเพื่อนร่วมงานในโปรเจคนี้ มันอาจจะมีสิ่งที่เราอยากจะจดจำเพื่อเป็นโมเม้นต์ดีๆ เก็บไว้ก็ได้ ซึ่งกระบวนการเก็บทั้งหมดให้เป็นระบบ ทำแบบไม่เหนื่อย และมีประสิทธิภาพถูกตอบได้หมดจดจากหนังสือเล่มนี้

ทำไมต้องสมุด

คำตอบก็แค่เพื่อหยุดการเข้าไปสู่โลกดิจิตอลเท่านั้นแหละครับ ทุกวันนี้เราถูกบงการด้วย Notification ที่มองเห็นและมองไม่เห็น กระตุ้นเราให้ตอนที่มีอะไรทำ หรือไม่รู้จะทำอะไร ลากเข้าไปในโลกของออนไลน์ ให้เราตื่นมาคว้ามือถือเป็นสิ่งแรก ข้อดีคือเราได้ข้อมูลที่เราอยากได้ ข้อเสียคือเราได้ข้อมูลมากกว่าที่เราอยากได้ จนหลายๆ ครั้งเราเหนื่อย และว้าวุ้น เวลาอยู่ในโลกแห่งนั้น การปิดมือถือลง แล้วมาทบทวน “งาน” “ความทรงจำ” ลงสมุดด้วยดินสอ ปากกา สมอง และความรู้สึกของเราแบบเผชิญหน้ากันตัวต่อตัว เราจะค้นพบว่า เรายังมีความสามารถในการกำหนดชะตาชีวิตเราอยู่อีกมาก เรียกความมั่นใจในการควมคุมชีวิตของตัวเองกลับมาได้บ้าง ทำให้รู้สึกว่า เรายังเดินไปในเป้าหมายที่เราตั้งไว้อยู่ ถ้าอยากรู้ว่าเมื่อวานเป็นแบบไหน เราก็พลิกสมุด

HOW : แล้วมันทำยังไง ไหนวาดให้ดูหน่อยสิ

​Bullet Journal มีแนวคิดหลักๆ ที่ผมสรุปแบบตัวเองมาได้ 4 ข้อ ได้แก่

1. ระบบ Index หรือ สารบัญเพื่อเชื่อมหน้าทุกหน้าเข้าหากัน แก้ปัญหาเวลาเราจดโน้ตแต่ละครั้ง แล้วหาไม่เจอว่าจดไว้ตรงไหน หรือถ้าเกิดมีการจด 1 เรื่อง หลายๆ หน้าสลับไปมา สมองก็จะพังไปหมด แล้วสุดท้ายเราก็จะหนีไปหาสมุดเริ่มใหม่แทน ระบบนี้จะช่วยปัญหาดังกล่าว

2. ระบบ ย้ายเวลาไปมา ตามความแน่นอนของสิ่งที่ต้องทำ แนวคิดนี้มาแก้ปัญหาว่า หลายๆ ครั้งเราพยายามจะกำหนดสิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจน และใส่ทุกอย่างไว้ใน Check list ที่ต้องทำ แต่พอถึงเวลาจริง บางงานกลับไม่ได้ทำ พอย้อนกลับไปดู เรารู้สึกเครียด เพราะทำไม่เสร็จ Check list ก็จะทับถมไปมา จนรู้สึกไม่อยากทำแล้ว ทั้งที่จริงๆ งานบางงาน มันมีความแน่นอนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ดังนั้นระบบย้ายเวลาไปมาของ Bullet Journal ทำให้เราอิสระที่จะตัดสินใจในเลือก Task มาทำได้ว่า อันนี้ย้ายไปอนาคตก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน หรือย้ายไปทำพรุ่งนี้เลย ซึ่งสามารถทำได้ตลอดเวลา

3. ระบบ Rapid Journal หรือการจดทั้ง “งาน” + “ความทรงจำ” = “ชีวิต” ลงไปในสมุดเล่มเดียว เป็นระบบที่แก้ปัญหาทำให้การจดทุกอย่างรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการ ฟัง เห็น แล้วคิดก่อนที่จะจดในรูปแบบของเราเอง ให้สั้นๆ กระชับ ในการจดสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อให้มันสามารถกลับมา Reflect เรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยแบ่งประเภทกดจดเป็นสิ่งที่เราต้องเจอในชีวิต ทั้ง งาน อีเวนท์ สิ่งที่อยากจำ และสอดคล้องกับข้อ 2 คือสามารถทำให้มันเคลื่อนไหวไปมาตามความแน่นอนของเวลา

4. ระบบ Customized Collection หรือ การยืดหยุ่นแบบจิ๊กซอ คือระบบที่ออกแบบมาเพราะเข้าใจว่า ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีจุดเน้นไม่เหมือนกัน บางคนชอบเที่ยวบ่อยๆ ก็อาจจะทำ Collection พิเศษ สำหรับวางแผนท่องเที่ยวขึ้นมา เพื่อแตกงาน อีเวนท์ที่ต้องไป สิ่งที่ต้องจำ สำหรับเรื่องเที่ยวโดยเฉพาะ นอกจากเที่ยวแล้ว ยังทำเรื่องเงิน เรื่องการอ่านหนังสือ หรือเรื่องต่างๆ ที่สนใจได้มากมาย แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะออกแบบยังไงบ้าง

ขั้นตอนหลักๆ ในการจะเริ่มต้น BUJO มี 3 Step ได้แก่

  1. Migration ย้ายข้อมูลจากที่เก่า มาสมุดเล่มใหม่
  2. Set ระบบเล่มใหม่ตาม 4 แนวคิดหลัก
  3. Do it, Reflect & Learning ใช้มันในชีวิตประจำวัน และทบทวนว่าแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง เรียนรู้จากมัน และปรับวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าเดิม

Step แรก​ : Migration โอนย้ายความคิดไปสู่สมุดเล่มใหม่

กระบวนการนี้เป็นกระบวนการเดียวกับการจัดการความวุ่นวายทั้งปวง ถ้าเราจะรู้ว่าเรามีอะไรต้องทำบ้าง เราต้องมันเอามากองตรงหน้าให้หมดเสียก่อน ถ้าเราอยากรู้ว่าตู้เสื้อผ้าเรามีอะไรบ้าง เราก็ต้องเอามันออกมาจากตู้ให้หมดแล้วค่อยจัดการมัน จะทิ้งหรือจะทำต่อก็ว่าไป

ดังนั้น การเริ่มต้นที่ดีก็คือ ให้หยิบงานที่ต้องทำ ทั้งในสมุดโน้ตเริ่มปัจจุบัน To-do list ที่ต้องทำ อีเมล์ที่ค้างไว้ ปฏิทินที่นัดหมาย หรือสิ่งที่ค้างในหัว เอามากางทั้งหมด และสรุปออกมาว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่มีอะไรบ้าง สิ่งที่ต้องทำมีอะไรบ้าง สิ่งที่อยากทำมีอะไรบ้าง เอามาแยกเป็นประเภทๆ ไว้ จะได้จัดเข้าสมุดเล่มใหม่ได้ง่ายๆ

หลังจากนั้น เอามากรองอีกรอบ ว่าอันไหนเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันแล้ว โยนทิ้งไปเลย ถ้าอันไหนยังต้องทำอยู่ ลองถามตัวเองสิว่า อันนี้เป็นงานที่อยากทำ หรือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าอยากทำ เราจะทำมันสำเร็จแน่ๆ และถ้าสำคัญ เราอาจจะต้องบังคับตัวเองให้ทำให้เสร็จ (หรืออาจจะโดนคนที่สั่งมา บังคับให้เราทำให้เสร็จ)

เมื่อได้สิ่งที่อยากทำ และสำคัญเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงช็อทที่สำคัญสุด นั่นคือหาสมุดเล่มใหม่ เอาแบบถูกใจ ขอเล่มหนาๆ หน่อย มาเริ่มจดกันได้เลย ผมเลือกสมุดของแบรนด์เครื่องเขียนไทยอย่าง GREY RAY ในรุ่น Lifebook 120 หน้า คิดว่าถ้าเลือกสมุดแพงหน่อย แต่ใช้ได้ครบทุกหน้า ก็คุ้มค่าแล้ว (แอบบังคับตัวเองให้ใช้เบาๆ)

ตอนหน้า เราจะมาเล่มเซทอัพสมุดเล่มใหม่ และลงมือใช้วิถีแบบ BUJO มาจดทุกอย่างในชีวิตกัน ไปอ่าน ->> ตอนที่ 2 กดที่นี่

ถ้าใครไม่ชอบอ่าน เรามี Youtube แบบ Podcast มาให้ฟัง

--

--

Peesamac

Co-founder, Learning Designer and Thinking at BASE Playhouse. Empowering Young Generation with Future Skill and Tecnology.